คณะวิจัยจากสถาบันโภชนาการ และผู้แทนชุมชน ภายใต้โครงการพลิกฟื้นวิถีสังคมและระบบนิเวศวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ได้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) เกี่ยวกับการเก็บข้อมูล

        เมื่อวันที่ 13 -14 กันยายน พ.ศ. 2565 คณะวิจัยจากสถาบันโภชนาการ และผู้แทนชุมชน ภายใต้โครงการพลิกฟื้นวิถีสังคมและระบบนิเวศวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก [Climate change Resilience of Indigenous SocioEcological systems (RISE)] ซึ่งได้รับทุนวิจัยจาก e-ASIA Joint Research Program โดยการนำของ รองศาสตราจารย์ ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ หัวหน้าโครงการฝ่ายประเทศไทย ได้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) เกี่ยวกับการเก็บข้อมูล และการวิเคราะห์ผลในแต่ละแผนงานย่อยของโครงการ ซึ่งได้แก่ ข้อมูลเศรษฐกิจและสังคม การประเมินภาวะโภชนาการ และการเก็บข้อมูลการมีอยู่และการกระจายตัวของแหล่งอาหารดั้งเดิม เพื่อคาดการณ์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต ร่วมกับทีมนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศรัสเซีย ณ Arctic Research Center, Hokkaido University ประเทศญี่ปุ่น

        โครงการวิจัยนี้ดำเนินงาน 3 ปี (พ.ศ. 2564 – 2567) ร่วมกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ ณ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อศึกษาถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) รวมถึงปัจจัยหนุนเสริมอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อวิถีความเป็นอยู่ ระบบอาหาร และภาวะโภชนาการของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนที่อยู่ใกล้ชิดและเป็นผู้ที่ช่วยดูแลแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของโลก โดยงานวิจัยนี้เป็นการร่วมวิจัยแบบสหสาขา (multidisciplinary) ผสานองค์ความรู้หลายศาสตร์เข้าด้วยกัน อาทิ นิเวศวิทยา โภชนาการ เศรษฐศาสตร์ มานุษยวิทยา และสังคมศาสตร์ นอกจากนี้ มีการทำงานกับชุมชนแบบหุ้นส่วน (partnership) เพื่อผสานองค์ความรู้และภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามามีส่วนร่วมในการรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงค้นหากลยุทธ์เพื่อเฝ้าระวัง และตั้งรับถึงผลที่ตามมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก รวมถึงปัจจัยทางด้านสังคมและเศรษฐกิจที่มีความทันสมัย (modernization) มากขึ้น

Message us