วันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2566 หน่วยวิจัยและการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ประสาทสัมผัสเพื่อโภชนาการที่ดี (Research and Education Unit on Sensory Science for Better Nutrition: SSBN) สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดบรรยายพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ประสาทสัมผัสเพื่อโภชนาการ ครั้งที่ 11 เรื่อง “Healthful diet for longevity: What, why and how” ในรูปแบบไฮบริด โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ เป็นประธานในการกล่าวเปิดการประชุม การบรรยายพิเศษครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และข้อมูลเชิงวิชาการ เกี่ยวกับการส่งเสริมภาวะโภชนาการและสุขภาพของประชาชนโดยใช้หลักการวิทยาศาสตร์ประสาทสัมผัส โดยเฉพาะรสชาติของอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งกำลังเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆของประชากรทั่วโลกในยุคปัจจุบัน
ทั้งนี้ สถาบันโภชนาการ ได้รีบเกียรติจาก Prof. Dr. Teiji Nakamura นายกสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศญี่ปุ่น (The Japan Dietetic Association) และอธิการบดี Kanagawa University of Human Services ประเทศญี่ปุ่น บรรยายในหัวข้อ “Why do Japanese people keep the longevity?” ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า ปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นมีชีวิตยืนยาว มาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เหมาะสม โดยวัฒนธรรมการกินอาหารอาหารญี่ปุ่น ที่มีข้าวเป็นหลัก คู่กับกับข้าวจานหลักจากเนื้อสัตว์ และจานรองที่เน้นส่วนประกอบจากผัก และซุป ซึ่งจัดเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ร่วมกับความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐบาล เอกชน ตลอดจนนักโภชนาการและนักกำหนดอาหาร ในการส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสม เพื่อสร้างภาวะโภชนาการที่ดีให้กับประชาชน
จากนั้น Dr. Chie Furuta นักวิจัยจาก Institute of Food Sciences and Technologies บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศญี่ปุ่น บรรยายหัวข้อ “Novel nutrient profiling system to describe healthfulness of Japanese dish” ซึ่งนำเสนอแนวทางการพัฒนาระบบการประเมินโปรไฟล์สารอาหาร (nutrient profiling system) สำหรับให้คะแนนเมนูและสำรับอาหารญี่ปุ่น ซึ่งมีความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป และเมนูอาหารแบบตะวันตก ทั้งนี้การทำโปรไฟล์สารอาหาร คือการจำแนกประเภทและคะแนนอาหารโดยพิจารณาจากปริมาณสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพและสารอาหารที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น