ประวัติและความเป็นมา
นับแต่ก่อตั้งมา สถาบันโภชนาการได้ทำงานวิจัยเพื่อส่งเสริมภาครัฐ ในการแก้ปัญหาโภชนาการ ของชาติอย่างต่อเนื่อง ตามกระแสการเปลียนแปลงของสภาพปัญหาที่เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลง ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ผลงานวิจัยของสถาบันโภชนาการ ได้ถูกส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งในประเทศและ ภูมิภาค เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาทุพโภชนาการและพิษภัยในอาหาร นอกจากนี้ยังได้เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านอาหารและโภชนาการ และพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ประชาชน
ทศวรรษที่ 1 (พ.ศ. 2520-2529)
สถาบันเน้นการแก้ปัญหาการขาดสารอาหารที่รุนแรง ทั้งในแม่และเด็ก ในกลุ่มคนยากจนในชนบท โดยมีผลงานที่มีผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชนตลอดจนการพัฒนาประเทศและภูมิภาคดังนี้
โครงการศึกษาเรื่องโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
การได้รับโปรตีนต่ำ และการกินผักที่มีออกซาเลทสูง ส่งผลให้เกิดการสะสมผลึกของออกซาเลท จนไม่สามารถถูกขับออกทางปัสสาวะทำให้เกิดนิ่ว แนวทางการแก้ไขโดยเพิ่มการกินอาหารที่มีโปรตีน จากเนื้อสัตว์และถั่ว ซึ่งมีฟอสฟอรัสสูง และดื่มน้ำมากขึ้น


โครงการศึกษาและพัฒนาอาหารเสริม

การคิดค้นสูตรอาหารเสริมที่ผลิตจากอาหารที่มีในท้องถิ่น ที่ทำจากข้าว ถั่ว งา แล้วหารูปแบบการผลิต และกระจายอาหารเสริม ในระดับชุมชน โดยใช้การตลาดเชิงสังคม เป็นต้นแบบของอาหารเสริมทารก ที่ใช้แก้ปัญหาทุพโภชนาการ ในชนบทในทศวรรษต่อมา
โครงการวิจัยเรื่องพฤติกรรมการกินของคนไทย
การวิจัยเพื่อการพัฒนาบริโภคนิสัยที่ดีต่อสุขภาพอนามัย อันจะส่งผลถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยประสานงานกับนักวิชาการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทำให้เข้าใจถึงต้นเหตุความเชื่อ และหาแนวทางปรับเปลี่ยน พฤติกรรมการบริโภคของคนไทย
โครงการวิจัยโลหิตจางในหญิงมีครรภ์
การวิจัยผลของการเสริมธาตุเหล็กในหญิงมีครรภ์ พบว่าการเสริมธาตุเหล็กในปริมาณ 120 มิลลิกรัม/วัน ตั้งแต่ช่วงกลางของการตั้งครรภ์มีผลป้องกันโลหิตจาง ในหญิงมีครรภ์ได้ และการให้ โภชนศึกษาที่เหมาะสม รวมทั้งการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชน ช่วยเพิ่มประสิทธิผลของมาตรการดังกล่าว
ทศวรรษที่ 2 (พ.ศ. 2530-2539)
โครงสร้างของประเทศที่กำลังเปลี่ยนจากเศรษฐกิจภาคการเกษตร มาเป็นภาคอุตสาหกรรม ทำให้สังคมไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบท มาสู่ความเป็นสังคมเมืองมากยิ่งขึ้น ปัญหาโภชนาการเกินมีมากขึ้นทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเกิดร่วมกับการขาดวิตามินและแร่ธาตุ (Double Burden) ประชากรเริ่มมีความตื่นตัวกระแสอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ปัญหาการขาดสารอาหารที่พบ ในช่วงทศวรรษที่ 1 ลดระดับความรุนแรงลง ภาครัฐมุ่งส่งเสริมให้มีการส่งออกมากขึ้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและศึกษาการใช้ประโยชน์ในร่างกาย
ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเสริมสารอาหาร เช่น วิตามินเอ เหล็ก ไอโอดีน แคลเซียม และอื่นๆ ได้ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหารเหล่านั้น ในประชากร นอกจากนี้ยังมีการทดสอบการใช้ประโยชน์ของสารอาหาร ที่เสริมลงไปในร่างกาย ทั้งในระดับ in vitro และ in vivo
การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อแก้ปัญหาโภชนาการเกินและศึกษาผลต่อร่างกาย
การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและส่วนประกอบอาหาร ที่มีการปรับลดปริมาณโซเดียมและน้ำตาล ปรับสัดส่วนกรดไขมันให้เหมาะสม ลดพลังงาน หรือเสริมใยอาหารและมีการนำไปทดลองในมนุษย์ ผลิตภัณฑ์บางส่วนได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไปยังผู้ประกอบการและผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์แล้ว


การวิจัยความปลอดภัยของอาหาร

การศึกษาสารเจือปนในอาหาร ที่เชื่อมโยงกับการเกิดโรคมะเร็ง และแนวทางการป้องกัน การศึกษาฤทธิ์การก่อกลายพันธุ์โดยเทคนิค Ames’Test นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาความปลอดภัยของอาหาร ที่ผลิตจากสถานประกอบการขนาดกลางและเล็ก ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่ที่กำกับดูแลมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง สามารถนำไปปฏิบัติได้
การจัดทำฉลากโภชนาการ
สถาบันเป็นหน่วยงานแห่งแรกในประเทศไทยที่สามารถ ให้บริการวิเคราะห์ และประเมินข้อมูล เพื่อจัดทำฉลากโภชนาการประเทศสหรัฐอเมริกาได้ตามข้อกำหนด และวิจัยในการจัดทำฉลากโภชนาการของประเทศไทย ให้เหมาะสม


การค้นหารูปแบบของการสื่อสารเพื่อพัฒนา และส่งเสริมพฤติกรรมโภชนาการ
การวิจัยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชากร เพื่อลดปัญหาอันเกิดจากการขาดวิตามินเอ โดยนำหลักการตลาดเพื่อสังคมมาประยุกต์ใช้ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะนำไปปฏิบัติจริงได้ (Research for Change or Action) เป็น โครงการตัวอย่างต้นแบบที่มีประสิทธิภาพ ในการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในหลายระดับอย่างต่อเนื่อง

ทศวรรษที่ 3 (พ.ศ.2540-2549)
เน้นการพัฒนา“คน”ตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติโดยการเตรียมความพร้อม ของเด็กปฐมวัย พัฒนาสุขภาพและพลานามัย ที่มุ่งเสริมสร้างโอกาสให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพดีถ้วนหน้า และมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันโรค การแก้ปัญหาลักษณะ Double Burden ต้องใช้การวิจัยแบบสหสาขาวิชาที่มีการสร้างองค์ความรู้ ในเชิงลึกมากขึ้น

การประเมินภาวะโภชนาการ
สถาบันดำเนินการสำรวจการบริโภคอาหารของคนไทย (National Food Consumption Survey) เพื่อเป็นเครื่องมือในการประเมินด้านความเพียงพอ ทางโภชนาการและความเสี่ยงด้านความปลอดภัย จากการบริโภคอาหาร นอกจากนี้ยังมีการวิจัยสร้างเครื่องมือ ในการประเมินภาวะโภชนาการ ในรูปโปรแกรมคอมพิวเตอร์
การพัฒนาพันธุ์ข้าวอุดมสารอาหาร
สถาบันได้ร่วมงานกับเครือข่ายนักวิจัย จากหน่วยงานด้านการเกษตร ในการปรับปรุงและคัดเลือกสายพันธุ์ข้าว เพื่อให้มีคุณค่าทางโภชนาการ และสารสำคัญที่เพิ่มขึ้น

การวิจัยด้านอาหาร
สถาบันดำเนินการวิจัย “อาหารไทย” อย่างครบวงจร ตั้งแต่การศึกษาคุณค่าของอาหารไทยเพื่อสุขภาพ ปริมาณสารพฤกษเคมี (Phytochemicals) การจัดทำตำรับอาหารและสำรับเพื่อสุขภาพ การศึกษาคุณสมบัติต่างๆ ในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

การพัฒนาโภชนาการอย่างมีส่วนร่วม เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่และนโยบายด้านโภชนาการของเด็กและเยาวชน โดยเน้นการเผยแพร่สื่อสารและพัฒนาพฤติกรรมโภชนาการ
การวิจัยเพื่อพัฒนาโภชนาการในรูปองค์รวม ที่เน้นการเผยแพร่สื่อสารและพัฒนาพฤติกรรมโภชนาการ เพื่อนำความรู้ทางด้านโภชนาการมาประยุกต์ใช้ ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โครงการได้รับรางวัลเกียรติยศ ในการประกวดโครงการสร้างกำไร ให้สุขภาพชุมชน ของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติร่วมกับสำนักงานกองทุน สนับสนุนการวิจัย และองค์การอนามัยโลก

อาหารโภชนาการเชิงรุก
สถาบันโภชนาการ ร่วมกับ กองโภชนาการ กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการขับเคลื่อนงานอาหาร และโภชนาการเชิงรุก ในรูปภาคีเครือข่าย เพื่อส่งเสริมภาวะโภชนาการในทารกและเด็ก ให้มีพัฒนาการเจริญเติบโตทั้งด้านร่างกายและสติปัญญา อย่างเต็มศักยภาพ และควบคุมปัจจัยเสี่ยงภาวะโภชนาการเกิน ในเด็ก ตลอดจนส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคอาหาร เพื่อสุขภาพที่ดี และป้องกันโรคเรื้อรังในกลุ่มประชาชนทั่วไป


งานวิจัยปัจจุบัน
ในทศวรรษที่ 4 (พศ. 2550-2560) สถาบันยังคงมีการดำเนินงานวิจัยหลายด้านอย่างต่อเนื่อง จากช่วงที่ผ่านมา เพื่อสานต่อทั้งการสร้างองค์ความรู้ใหม่ และการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน สถาบันต้องเตรียมความพร้อมให้สังคมไทย ที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging society) มากขึ้น โดยงานวิจัยต้องสามารถเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสม ในการลดผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อให้ผู้สูงอายุเหล่านั้นได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ยังคงมีส่วนในการพัฒนาประเทศและไม่สร้างภาระให้กับภาครัฐ ในด้านสาธารณสุขจนมากเกินไป
นอกจากนี้ สถาบันได้ร่วมกับภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินงานวิจัย เพื่อสร้างเสริมความมั่นคงทางด้านอาหาร และโภชนาการในห่วงโซ่อาหาร ทั้งในด้านคุณภาพอาหาร คุณค่าทางโภชนาการ ความปลอดภัยของอาหาร และอาหารศึกษา เพื่อสนองตอบนโยบายของชาติ ในความพยายามแก้ปัญหาอาหารและโภชนาการ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรและการส่งออก



ทั้งนี้งานวิจัยที่ดำเนินการในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มงาน ดังนี้
- การพัฒนาเครื่องมือและตัวชี้วัดในการประเมินสุขภาวะที่เกี่ยวกับอาหารและโภชนาการ
- การศึกษาองค์ประกอบ กระบวนการ กลไกและประสิทธิผลที่เกี่ยวข้องกับอาหารและ double burden of malnutrition
- การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อลดความเสี่ยงและ/หรือความรุนแรงของโรค
- พิษวิทยาและความปลอดภัยทางอาหาร
- การประยุกต์ความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนให้เกิดพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ