แกงหยวก (ตำรับนี้รับประทานได้ประมาณ 6 คน)

 

Template 01
Template 01
Template 01
      “แกงหยวก” กล้วย มีความผูกพันในวิถีชีวิตคนไทยมาอย่างช้านาน คนไทยรู้จักใช้ประโยชน์จากกล้วยได้อย่างมากมาย  รวมทั้งนำมาบริโภค ซึ่งนอกจากการกินผลกันแล้ว ทางภาคเหนือยังเอาหยวกกล้วย หรือลำต้นของต้นกล้วยที่ยังไม่โตมากนัก นำแก่นกลางต้นที่ยังอ่อน ๆ มาทำประกอบอาหาร ประเภท แกง เรียกว่า  “แกงหยวก”   โดยส่วนใหญ่จะแกงกับไก่ ใส่วุ้นเส้น  บางทีก็จะใส่เนื้อปลาย่างด้วย นิยมใช้เลี้ยงแขกในงานบุญต่าง ๆ ถ้าทำเป็นหม้อใหญ่ๆ จะไม่ใส่วุ้นเส้น   เพราะเส้นจะอืดง่าย
 
คุณค่าอาหารทางโภชนาการ

       แกงหยวก เป็นเมนูอาหารที่ไม่ใช้กะทิ เป็นส่วนประกอบ ซึ่งก็จะมีผลดีต่อผู้บริโภค แกงหยวกทำมาจากหยวกกล้วย ซึ่งหยวกกล้วยที่ใช้เป็นหยวกกล้วยต้นอ่อน นำมาเลาะเอาเปลือกนอกออกใช้เฉพาะแกนอ่อนๆ หยวกกล้วย แม้จะมีวิตามินไม่มาก แต่ก็มีแร่ธาตุ และประกอบด้วยใยอาหารสูง นอกจากนี้ยังมีเบต้าแคโรทีน(β-carotene) และก็วิตามินซีอีกด้วย ส่วนประกอบอย่างหนึ่งของแกงหยวกก็คือ น้ำพริกเครื่องแกงเครื่องแกงของแกงหยวกจะหมือนกับลาบ ซึ่งก็จะมีเครื่องสมุนไพรที่เด่นก็คือ มะแล่บ หรือ มะแกว่น และก็ดีปลี ช่วยให้ความเผ็ดร้อนและกลิ่นหอมของแกง นอกจากการรับประทานแกงหยวกกับข้าวสวยร้อนๆแล้วเรายังรับประทานคู่กับขนมจีน ก็จะมีขนมจีนน้ำยาแกงหยวก เป็นต้น คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภคของแกงหยวกมีดังนี้

       เมนูนี้สิ่งเด่นๆสำคัญที่ได้จากหยวกกล้วยคือ เบต้าโคโรทีน และวิตามินซี แต่วิตามินซีอาจจะมีไม่มาก เพราะความร้อนจะทำลายวิตามินซีลงไปได้ แต่ก็ยังพอมีบ้าง สิ่งที่สำคัญก็คือ ใยอาหาร ที่มีบทบาทสำคัญช่วยทำความสะอาดลำไส้ใหญ่ให้สะอาดปลอดจากสารพิษ แล้วขับออกมากับอุจจาระ ข้อควรระวังสำหรับการรับประทานแกงหยวกคือ ไขมันสัตว์ ในการปรุงเมนูแกงหยวก มักนิยมใช้หมูสามชั้นหรือเนื้อไก่ที่ติดหนัง เพราะว่าจะมีความนิ่ม ดังนั้นเรารับประทานแกงหยวกที่ปรุงจากจากหมูสามชั้นหรือเนื้อไก่ที่ติดหนังก็ควรระวัง

 
เครื่องพริกแกงหยวก
วิธีทำเครื่องพริกแกง
- พริกแห้ง (เม็ดใหญ่)
8 เม็ด
- กระเทียม
25 กลีบ
- หอมแดง
7 หัว
- ตะไคร้ (ซอย)
1/3 ถ้วยตวง
- ข่า (หั่น)
4 แว่น
- กระชาย
4 หัว
- เม็ดผักชี
2 ช้อนโต๊ะ
- รากผักชี(ซอย)
1 ราก
- ผิวมะกรูด
4 ชิ้น
- ใบมะกรูดฉีก
4 ใบ
- กะปิ
1 ช้อนโต๊ะ
- เกลือ
1 กรัม
   
เครื่องปรุงแกงหยวกกล้วย
- เนื้อไก่ 250 กรัม
- วุ้นเส้น (แช่น้ำ) 1 ถ้วยตวง
- กระเทียม (สับ) 10 กลีบ
- กระชาย (ทุบ) 6 หัว
- ผักชีฝรั่ง 1/3 ถ้วยตวง
- มะเขือเทศสีดา 6 ลูก
- น้ำมันพืช 4 ช้อนโต๊ะ
- น้ำซุป (กระดูกหมู) 2 ถ้วยตวง
- เครื่องแกงหยวก 8 ช้อนโต๊ะ
- หยวกกล้วย (ซอย) 2 ขีด
- ต้นหอมผักชี 3 ต้น
- ใบมะกรูด 4 ใบ
     
1.
นำ พริกแห้ง  กระเทียม  หอมแดง  ตะไคร้  ข่า  กระชาย  เม็ดผักชี  รากผักชี  ผิวมะกรูด  ใบมะกรูด  กะปิและเกลือไปโขลกรวมกัน  ก็จะได้พริกแกงหยวก
   
วิธีทำแกงหยวกกล้วย
1. นำกล้วยน้ำหว้า นำมาลอกปอกเปลือกเอาแต่ไส้ที่เป็นแกนใน  นำมาซอยให้ละเอียด แล้วแช่ในน้ำเกลือพักไว้  เพื่อไม่ให้หยวกมีสีคล้ำดำ
2. เอากะทะตั้งบนเตา ใส่น้ำมัน เจียวกระเทียมให้พอเหลือง
3. เอาเครื่องแกงลงไปรวนในกะทะ ให้น้ำมันเข้ากับเครื่องแกง  กลับเครื่องแกงไปมา  อย่าให้เครื่องแกงไหม้ ใส่กระชายลงไป เพื่อให้เครื่องแกงมีกลิ่นหอม
4. หลังจากนั้นนำเนื้อไก่ ใส่ลงไปผัดกับเครื่องแกง  ผัดไปมาให้เครื่องแกงเข้ากับเนื้อไก่  อาจเติมน้ำซุปลงไปเล็กน้อย เพื่อไม่ให้ไก่ติดกะทะ  ผัดจนไก่สุก
5. ตักไก่ที่ผัดกับเครื่องแกง ลงในหม้อน้ำซุป ที่ตั้งไฟคอยบนเตาอยู่แล้ว ใส่ลงไปให้หมด แล้วต้มต่อ
6. พอน้ำแกงเดือดแล้วก็ใส่หยวกกล้วยที่หั่นฝอยแล้วลงไปในหม้อ  คนให้เข้ากับน้ำแกง  คนให้ทั่วแล้วตั้งจนกว่าหยวกกล้วยจะสุก
7. ถ้าหยวกกล้วยสุกดีแล้วก็ใส่ใบมะกรูด และมะเขือเทศลงไปต้มจนสังเกตุว่ามะเขือเทศสุกก็ใส่วุ้นเส้นลงไป  คนให้เข้ากัน แล้วใส่ผักชีฝรั่ง  ต้มต่ออีกสักครู่ไม่ต้องนาน แล้วยกลงจากเตา ตักขึ้นเสริฟ โรยแต่งหน้าด้วยผักชี ต้นหอม ก็เป็นอันเสร็จ
   
   
   
   
   
   
ข้อมูลคุณค่าโภชนาการโดย...มลฤดี สุขประสารทรัพย์
ริญ เจริญศิริ
วิทยากรการปรุงอาหาร...ทิวาพร ปินตาสี
เผยแพร่วันที่...15 ธันวาคม พ.ศ.2557
โครงการเผยแพร่และอนุรักษ์อาหารไทยผ่านเว็บไซต์สถาบันโภชนาการ
Go to Top