ยำไข่มดแดง (ตำรับนี้รับประทานได้ประมาณ 4 คน)

 

Template 01
Template 01
Template 01

     ไข่มดแดง ที่ชาวบ้านนำมากินกันนี้ เป็นไข่ผสมกับตัวอ่อนระยะดักแด้ของมดงานและมดราชินี จะมีขนาดเท่าแคปซูลยา ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ชาวอีสานเรียกแม่เป้ง องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ไข่มดแดงมีคุณค่าทางโภชนาการสูง และได้รณรงค์ให้กินไข่มดแดงเป็นอาหาร

     ไข่มดแดง ให้ประโยชน์ทางโภชนาการหลายอย่าง มีไขมันน้อย มีโปรตีนสูง มีรสเปรี้ยวใช้แทนมะนาว หรือน้ำส้มสายชูได้ อาหารที่ทำจากไข่มดแดง ก็มีหลายอย่าง เช่น ก้อยไข่มดแดง ห่อหมกไข่มดแดง แกงขี้เหล็กไข่มดแดง และยำไข่มดแดง ซึ่งยำไข่มดแดงก็นับว่าเป็นเมนูที่ได้รับความนิยม ทำก็ง่าย รสชาติอร่อยอย่าบอกใคร

     ยำไข่มดแดง เมนูที่ทำง่าย แต่คนในเมืองอาจหาไข่มดแดงได้ยากสักหน่อย แต่ปัจจุบันนี้มีการเลี้ยงเพื่อทำเป็นธุรกิจจริง ๆ จังๆ ทำขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายเมนู และให้คุณค่าทางโภชนาการสูง

คุณค่าอาหารทางโภชนาการ

       ไข่มดแดง เป็นอาหารที่เป็นของสูงและหายากอย่างหนึ่ง เพราะว่าจะต้องใช้ความพยายามในการที่จะหามารับประทาน แต่เป็นของที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ถ้าใครได้มีโอกาสลิ้มรสไข่มดแดงแล้วก็คงจะทราบว่าทำไมคนจำนวนมากถึงได้ชอบนำมาประกอบอาหาร นอกจากการทำยำไข่มดแดง แล้วก็ยังสามารถนำไข่มดแดงมาทำอู๋ไข่มดแดง หรือห่อหมกไข่มดแดง หรือใส่ในน้ำแกงต่างๆ คุณสมบัติโดดเด่นของไข่มดแดงก็คือ รสเปรี้ยวที่ได้จากไข่มดแดง ซึ่งเราสามารถมาใช้แทนเครื่องปรุงรส เสริมรสปรี้ยวของตำหรับอาหาร จุดเด่นของไข่มดแดง ในด้านคุณค่าอาหารแล้ว เทียบกับไข่ไก่ก็คงจะไม่ได้มีโปรตีนมากกว่า เพราะตัวไข่มดแดงค่อนข้างจะมีน้ำมาก แต่จุดที่น่าสนใจคือ ในปริมาณเดียวกันไข่มดแดงจะมีธาตุเหล็กสูงกว่าไข่ไก่

       ส่วนประกอบอาหารที่โดดเด่นในอาหารอีสานอีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ น้ำปลาร้า ซึ่งจะทานให้มีคุณค่าไม่ส่งผลต่อสุขภาพ ส่วนประกอบของยำไข่มดแดงก็เช่นกัน ต้องมีน้ำปลาร้าเป็นส่วนประกอบ และที่สำคัญก็ต้องไม่ใส่จำนวนมากเกินไปจนมีความเค็มเกินความพอดี อีกทั้งการจะรับประทานอาหารที่ใส่ปลาร้าให้ปลอดภัย ก็จะต้องเป็นปลาร้าที่ต้มสุก เพราะว่าปลาร้าดิบเราอาจจะมีความเสี่ยงต่อเรื่องของพยาธิที่ติดมาในตัวปลาน้ำจืด โดยปรกติแล้วปลาร้าที่หมักไม่ถึง 6 เดือนหรือ 1 ปี เราก็อาจจะมีโอกาสที่จะได้พยาธิเหล่านี้ติดมาได้ วิธีง่ายสุดที่จะป้องกันปัญหานี้ก็คือการต้มปลาร้าให้สุกก่อนนำมาประกอบอาหาร

 
ส่วนประกอบเครื่องยำไข่มดแดง
วิธีทำยำไข่มดแดง
- ไข่มดแดง
165
กรัม
- หอมแดง (ซอย)
20
กรัม
- หอมเป (ผักชีฝรั่ง)
10
กรัม
- ต้นหอม (ซอย)
19
กรัม
- สะระเหน่
7
กรัม
- น้ำปลา
4
กรัม
- น้ำปลาร้า
15
กรัม
- มะนาว
15
กรัม
- พริกป่น
4
กรัม
- ข้าวคั่ว
10
กรัม
1.
การยำก็ทำง่าย เอาไข่มดแดงที่เตรียมไว้แล้วมาใส่ในชามที่จะใช้ยำ ไข่มดแดงในช่วงนี้หาลำบากจะมีตัวแม่ติดมาด้วย ใส่ข้าวคั่วลงไปผสมเลย ถ้าคั่วใหม่ ๆ ก็ยิ่งดี
2.
ตามด้วยพริกป่น ถ้าทำเองก็จะเผ็ดและหอมได้ที่ เติมน้ำปลาลงไป ตามด้วยน้ำปลาร้าที่ต้มสุก เทให้ทั่ว เพิ่มความเปรี้ยวอีกนิดด้วยมะนาว แล้วก็ใส่หอมซอยลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน
3.
จากนั้นใส่ต้นหอมและหอมเป หรือที่เรียกว่าผักชีฝรั่งลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน
4.
ปิดท้ายด้วยใบสะระเหน่ ก็เป็นอันเสร็จ เมนูยำไข่มดแดง ตักขึ้นใส่จาน เสริฟกับข้าวเหนียวร้อน ๆ ทานกับข้าวสวยก็ได้ มีผักสดร่วมด้วยก็อร่อย และมีคุณค่าทางโภชนาการ
   
ข้อมูลคุณค่าโภชนาการโดย...ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุไรพร จิตต์แจ้ง
วิทยากรการปรุงอาหาร...ไสว หงส์คำ
เผยแพร่วันที่...15 ธันวาคม พ.ศ.2557
โครงการเผยแพร่และอนุรักษ์อาหารไทยผ่านเว็บไซต์สถาบันโภชนาการ
Go to Top