เปลือกมะนาว…ของเหลือทิ้งที่ไม่ไร้คุณค่า
ภัคพงศ์ ภู่เจริญรักษ์ และดุลยพร ตราชูธรรม
เปลือกมะนาวเป็นของเหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูปน้ำมะนาวและการปรุงประกอบอาหารที่ใช้มะนาวเพิ่มรสชาติ ในแต่ละปี ประเทศไทยทิ้งเปลือกมะนาวมากถึง 10 ล้านตันต่อปี เท่ากับต้องใช้รถบรรทุกสิบล้อ ถึง 4 แสนคันขนส่งเพื่อไปกำจัดทิ้ง ดังนั้นการหาหนทางนำเปลือกมะนาวมาใช้ประโยชน์จึงเป็นโจทย์วิจัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม
จากแรงบันดาลใจในการนำเปลือกมะนาวมาใช้ประโยชน์ ทำให้เกิดงานวิจัยวิทยานิพนธ์ของนายภัคพงศ์ ภู่เจริญรักษ์นักศึกษาหลักสูตรปริญญาโทสาขาพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย มีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ รศ.ดร.ทพญ. ดุลยพร ตราชูธรรม และอ.ดร.ชวัลพัชร เมืองน้อย สังกัดสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยจากการสืบค้นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่า เปลือกมะนาวมีสารสำคัญเป็นสารพฤกษเคมี (phytochemicals) ที่มีประโยชน์ทางสุขภาพได้แก่ เฮสเพอริดิน (hesperidin) และ ลิมอนิน (limonin) นำมาสู่การศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและคุณสมบัติของสารและพัฒนาเป็นกระบวนการสกัดเปลือกมะนาวให้ได้เฮสเพอริดินและลิมอนินในปริมาณสูง โดยอาศัยวิธีการสกัดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green extraction) ที่ปลอดภัยทั้งต่อตัวผู้สกัดและสิ่งแวดล้อม ผลงานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ Molecules ฉบับเดือนมกราคม ปี 2565 จากนั้นเมื่อนายภัคพงศ์จบการศึกษา จึงได้เข้าปฏิบัติงานเป็นนักปฏิบัติการวิจัยที่สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และดำเนินการวิจัยต่อภายใต้ทุน Fundamental Fund 2566 โดยคณะผู้วิจัยใช้เทคนิค เมตาโบโลมแบบไม่กำหนดเป้าหมาย (untargeted metabolomics) ศึกษาพบว่าในสารสกัดเปลือกมะนาวยังมีสารสำคัญอื่นๆ อีกกว่า 60 ชนิด เช่น เบอร์กาปทอล (bergaptol) เบอร์กามอทีน (bergamotin) นีโอเฮสเพอริดิน (neohesperidin) และลิมอนีน (limonene) เป็นต้น เมื่อนำสารสกัดดังกล่าวมาศึกษาฤทธิ์ทางสุขภาพ ในห้องปฏิบัติการ พบว่า สารสกัดเปลือกมะนาว มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและการบุกรุก (invasion) ของเซลล์มะเร็งตับที่มียีนพี 53 กลายพันธุ์ในตำแหน่งที่พบบ่อยในคนไข้มะเร็งตับ โดยพบว่า สารสกัดเปลือกมะนาวออกฤทธิ์ต้านมะเร็งได้ดีกว่าสารเฮสเพอริดินและลิมอนินบริสุทธิ์ผสมกัน ดังนั้นจึงคาดว่า ฤทธิ์ของสารสกัดเป็นผลจากสารสำคัญหลายชนิดเสริมฤทธิ์กัน ผลงานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ Molecules ฉบับที่ 27 เดือนมีนาคม ปี 2566
งานวิจัยนี้เป็นความหวังใหม่ในการนำเปลือกมะนาว ของเหลือทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ข้อ 12 การบริโภคและการผลิตอย่างรับผิดชอบ (responsible consumption and production) และเป็นการต่อยอดงานวิจัยของนักศึกษาระดับปริญญาโทสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ในอนาคตจะมีการศึกษาทางพิษวิทยาเพื่อประเมินความปลอดภัย การพัฒนาผลิตภัณฑ์และศึกษาประโยชน์ทางสุขภาพของสารสกัดดังกล่าวในระดับสัตว์ทดลองและในมนุษย์ต่อไป
อ้างอิง
1. Phucharoenrak P, Muangnoi C, Trachootham D. A Green Extraction Method to achieve the Highest Yield of Limonin and Hesperidin from Lime Peel Powder (Citrus aurantifolia). Molecules 2022, 27, 820.
อ่านบทความวิจัยฉบับเต็ม คลิกที่ https://doi.org/10.3390/molecules27030820
2. Phucharoenrak P, Muangnoi C, Trachootham D. Metabolomic Analysis of Phytochemical Compounds from Ethanolic Extract of Lime (Citrus aurantifolia) Peel and Its Anti-Cancer Effects against Human Hepatocellular Carcinoma Cells. Molecules 2023, 28, 2965.
อ่านบทความวิจัยฉบับเต็ม คลิกที่ https://doi.org/10.3390/molecules28072965